วัดใหม่หนองพะอง Watmainongphaong

ประวัติ
วัดหนองพะองสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีของพระองค์ ได้เสด็จทางชลมารค ขึ้นประทับพักที่ศาลาท่าน้ำวัดหนองพะอง สมเด็จพระราชินีได้พระราชทานทรัพย์ สร้างอุโบสถ จำนวน ๕๐๐ บาท ปัจจุบันเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน จำพรรษา ได้มีการพัฒนาศาสนสถานขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจทางศาสนา

ประวัติหลวงพ่อทองอยู่ (พระครูสุตาธิการี) วัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร หลวงพ่อทองอยู่ หรือ พระครูสุตาธิการี (ทองอยู่ ยโส) อายุ ๙๖ ปี ๙ เดือน ๙ วัน อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ วัดใหม่หนองพะอง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นพระเถระ พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่แก่กล้าด้วยอาคม มีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ-คันถธุระ เขียนและอ่านภาษาขอมได้เป็นอย่างดี พ.ศ.2475 เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่หนองพะองพ.ศ.2481เป็นประทวนสมณศักดิ์ที่ พระครูทองอยู่ พ.ศ.2501 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสุตาธิการี พ.ศ.2521 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูสุตาธิการี พ.ศ.2522 เป็นพระอุปัชฌาย์ ชาติภูมิของหลวงพ่อ ชื่อ ทองอยู่ นามสกุล ชมปรารภ ต่อมาเปลี่ยนเป็น สิงหเสนี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2430 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ ปีกุน เป็นบุตรคนที่ 3 ของ นายคำ และนางปั่น ชมปรารภ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คนคือ 1 นายหุ่น ชมปรารภ 2 นางจิบ ชมปรารภ 3 พระครูสุตาธิการี (ทองอยู่) ชมปรารภ (สิงหเสนี) 4นางหน่าย ชมปรารภ 5 นางรอด ชมปรารภ พระครูสุตาธิการีนั้นท่านเติบโตมากับวัดโดยสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กได้มาช่วยสร้างอุโบสถของวัดหนองพะองด้วย และมาช่วยกิจการงานของวัดในเวลาว่างเสมอ ในวัยหนุ่มท่านเป็นคนโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนฝูงมาก และมีนิสัยชอบความยุติธรรม ถ้าอะไรไม่ถูกต้องท่านจะต้องเข้าไปช่วยแก้ไขเสมอ จึงเป็นที่รักของเพื่อนฝูง ท่านสนใจวิชาการเล่นแร่แปรธาตุศึกษาจนสามารถนำแร่ปรอทมาหุงให้เป็นทองคำได้ และท่านได้เรียนรู้วิชาอาคมจากพระอาจารย์แห ปัญจสุวัณโณ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังด้านวิทยาอาคมในสมัยนั้นด้วย เมื่ออายุครบกำหนดเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารเรือ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง ท่าน เข้ารับราชการเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 6 จึงลาออกจากราชการ มาประกอบอาชีพการทำนาอยู่ข้างวัดบึงพระยาสุเรนทร์ เขตมีนบุรี จังหวัดกรุงเทพฯ ท่านได้ช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพกสิกรรมและมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ด้วยการเลี้ยงดูท่านเป็นการสนองน้ำใจของพ่อแม่ หลวงพ่อได้ใช้ชีวิตการครองเรือนมีภรรยาคือ นางหนู ชมปรารถ มีบุตรธิดา 2 คน คือ นายย้อย ชมปรารถ และนางแย้ม ชมปรารถ จนกระทั่งเมื่อนางหนูเสียชีวิตจึงได้นางทองสุขเป็นภรรยามีบุตร 1 คน คือ นายหยด ชมปรารถ จนถึงอายุ 31 ปี หลวงพ่อท่านรู้รสชาติของการครองชีวิตคู่เป็นอย่างดี ท่านจึงกราบลาพ่อแม่เพื่อที่จะเข้ารับการ บรรพชาอุปสมบท โดยมีขุนหนองแขมเขมกิจ เป็นผู้ดำเนินการจัดการอุปสมบทให้ ณ วัดใหม่หนองพะอง ตำบลหนองแขม อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดธนบุรี ซึ่งตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2461 โดยกราบนิมนต์ท่านพระครูสังวรศีลวัตร (หลวงพ่ออาจ) วัดดอนไก่ดี เป็นพระอุปัชฌาย์ กราบนิมนต์ท่านพระครูถาวรสมณศักดิ์ (หลวงพ่อคง) วัดหงอนไก่ มาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ กราบนิมนต์พระอธิการ (หลวงพ่อแห) วัดใหม่หนองพะอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สถานะเดิม ตามใบสุทธิ นามเดิม ทองอยู่ ชมปรารถ นามบิดา นายคำ สีเนื้อดำแดง สัณฐานสันทัด ตำหนิ แผลเป็นเนือข้อมือขวา อายุ 31 เกิดปีกุน วันที่ 7 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2430 ตำบลหนองแขม อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดธนบุรี บรรพชาอุปสมบท นามฉายา ยสภิกขุ นามพระอุปัชฌาย์ พระครูสังวรศีลวัตร นามพระกรรมวาจาจารย์ พระครูถาวรสมณศักดิ์ นามพระอนุสาวนาจารย์ พระแห ปัญจสุวัณโณ เวลา 14.00 น. ณ วัดใหม่หนองพะอง ตำบลหนองแขม อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดธนบุรี ได้ให้ไว้ ณ วันจันทร์ที่ 15 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2461 ลงนามพระครูสังวรศีลวัตร (ตำแหน่ง) เจ้าคณะแขวง นามพระทองอยู่ ฉายา ยสภิกขุ สำนักวัดใหม่หนองพะอง ตำบลหนองแขม อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม